Covid-19 vaccination

ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัยอันควร ไข่ไม่ตก ประจำเดือนไม่มา มีลูกได้หรือไม่ (premature ovarian failure)

ภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร หรือรังไข่เสื่อม คือการที่รังไข่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเพศได้ก่อนอายุ 40 ปี

สาเหตุ

พบภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร ประมาณ 1% ในสตรีที่อายุน้อยกว่า 40 ปี แต่ผู้ป่วยร้อยละ 50-75 มีการกลับมาทำงานของรังไข่ได้เป็นครั้งคราว และยังพบว่า ร้อยละ 5-10 สามารถตั้งครรภ์ได้เองโดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ โดยจะมีอาการที่พบได้คือ การขาดประจำเดือน การมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ต่ำ และมีฮอร์โมน folliclular stimulating hormone (FSH) ซึ่งสร่างจากต่อมใต้สมอง อยู่ในระดับที่สูงมากเหมือนที่พบในสตรีวัยหมดประจำเดือน

สาเหตุของภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร

1. สาเหตุจากความผิดปกติของโครโมโซม และพันธุกรรม พบได้ประมาณ 20-30% สาเหตุทางพันธุกรรมที่พบบ่อยสุด คือ Turner syndrome ซึ่งจะมีการพัฒนาของรังไข่เป็นปกติ ขณะเป็นทารกในครรภ์ แต่จะมีการฝ่อของฟองไข่อย่างรวดเร็ว ซึ่งบางรายเริ่มมีการเสื่อมของฟองไข่หรือถูกทำลายตั้งแต่ในช่วงที่เป็นทารกเลย หรือในช่วงวัยเด็ก ทำให้หยุดทำงานเร็วกว่าคนทั่วไป ความรุนแรงของโรคมีหลายระดับ อาจจะไม่มีประจำเดือนและไม่มีการพัฒนาการทางเพศเลย หรือบางรายอาจจะมีการพัฒนาการทางเพศ เข้าสู่วัยสาว มีประจำเดือนอยู่ไม่กี่ปีก็จะเข้าสู่ภาวะรังไข่หยุดทำงาน

2. สาเหตุจากการมีภูมิต้านทานตนเอง เช่น โรคพุ่มพวงหรือ SLE โรคภูมิต้านทานตนเองของต่อมไทรอยด์ (autoimmune thyroid disorder) โรคพาราไทรอยด์ พบได้ประมาณ 10-30% บางรายถ้าได้รับการรักษา หรือภาวะของโรคดีขึ้น การทำงานของรีงไข่อาจจะกลับมาได้

3. สาเหตุรังไข่หยุดทำงานหลังจากการผ่าตัด พบว่าการทำผ่าตัดบริเวณรังไข่บางครั้ง อาจทำให้ปริมาณฟองไข่ลดลงจากการบาดเจ็บหรือตัดเอาเนื้อรังไข่ออกไป หรือ มีการรบกวนเส้นเลือดที่มาเลี้ยงรังไข่ทำให้เนื้อรังไข่ขาดเลือดและไม่ทำงาน

4. การให้เคมีบำบัด การได้รับรังสีจากการฉายแสงรักษา ถ้าได้รับรังสีในปริมาณที่มาก หรือหลายๆครั้ง หรือได้รีบยาเคมีบำบัดปริมาณมาก ก็จะมีผลทำลายเนื้อเยื่อของรังไข่ได้ ทำให้รังไข่หยุดทำงาน

5. ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การสูบบุหรี่ จะทำให้การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ยาฆ่าแมลง และโลหะหนักบางชนิด อาจจะเป็นพิษต่อเซลล์เนื้อเยื่อรังไข่ได้

6. การติดเชื้อ เช่น คางทูม, วัณโรค, มาเลเรีย พบได้น้อยมาก แต่ก๋มีรายงานการเกิดภาวะรังไข่ หยุดทำงานก่อนวัยอันควรได้ ส่วนใหญ่เมื่อรักษาจนหายจากการติดเชื้อ รังไข่ก็มักจะกลับมาทำงานปกติได้

7. ไม่ทราบสาเหตุ ร้อยละ 60-70% ของภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร จะเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ

อาการข้างเคียงที่มักจะเจอ

เหมือนสตรีวัยหมดประจำเดือน คือจะไม่มีประจำเดือน และอาจจะมีอาการ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากตอนกลางคืน หงุดหงิด ปวดเมื่อยตัวไม่มีแรง อารมณ์แปรปรวน ช่องคลอดแห้ง ผิวแห้ง กระดูกเปราะบางหรือกระดูกพรุนเป็นต้น

เกณฑ์การวินิจฉัย

– อายุน้อยกว่า 40 ปี
– มีรอบเดือนห่าง (oligomenorrhea) หรือขาดประจำเดือน (amenorrhea) เป็นเวลาอย่างน้อย4 เดือน
– ฮอร์โมน FSH สูงเหมือนในสตรีวัยหมดประจำเดือน โดยการตรวจ 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์

การรักษา

1. การให้ฮอร์โมนทดแทน สตรีที่มีรังไข่หยุดทำงานก่อนวัย จำเป็นต้องให้ฮอร์โมนทดแทน เพื่อบรรเทาอาการวัยทอง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ ลดภาวะสมองเสื่อม ภาวะกระดูกพรุน โดยทั่วไปจะให้ฮอร์โมนทดแทนจนถึงอายุเฉลี่ยของสตรีที่หมดประจำเดือนทั่วๆไป คือประมาณ 50 ปีเป็นอย่างน้อย จากนั่นจึงค่อยประเมินอาการหรือความจำเป็น เป็นรายๆไปว่ายังต้องให้ต่อหรือจะหยุดยาฮอร์โมนได้

2. การรักษาเกี่ยวกับปัญหาการมีบุตร ผู้ป่วยที่รังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร อาจจะมีประมาณ 5-10% ที่สามารถที่จะมีการตกไข่เองในบางรอบเดือน และตั้งครรภ์ได้ หรืออาจจะลองใช้ยาช่วยกระตุ้นไข่ หรือฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (gonadotropin) ช่วยทำให้มีการเจริญเติบโตของไข่ และตกไข่ได้ ถ้าไม่สามารถกระตุ้นไข่ ก็อาจจะใช้ไข่บริจาคร่วมกับการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เพื่อช่วยในการมีบุตรได้

YOU MAY ALSO LIKE