
การแช่แข็งเก็บรักษาเซลล์ตัวอ่อนและเซลล์สืบพันธุ์ไข่และเชื้ออสุจิ (Embryo, Oocyte and Sperm Cryopreservation)
การเก็บรักษาเซลล์ตัวอ่อนโดยการแช่แข็ง
ในขั้นตอนการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยการทำเด็กหลอดแก้ว หลังจากการปฏิสนธิได้เป็นตัวอ่อนแล้ว จะมีการย้ายกลับเข้าโพรงมดลูก คนไข้ที่มีตัวอ่อนจำนวนมากหรือต้องตรวจคัดกรองโครโมโซมของตัวอ่อน จำเป็นต้องแช่แข็งตัวอ่อนเพื่อเก็บรักษาไว้ใช้ในอนาคตต่อไป
ทาง สไมล์ ไอวีเอฟ คลินิก เลือกใช้เทคนิคการแช่แข็งแบบ แบบผลึกแก้ว (VITRIFICATION) ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน
วิธีแช่แข็งแบบผลึกแก้ว (VITRIFICATION) ทำได้อย่างไร
ใช้หลักการลดอุณหภูมิลงอย่างรวดเร็ว ร่วมกับใช้สารรักษาความเย็น (CRYOPROTECTANT) ที่มีคุณสมบัติป้องกันการเกิดผลึกน้ำแข็งในเซลล์ เมื่อลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็วจนอุณหภูมิ -196 องศา น้ำจะกลายเป็นผลึกแก้ว ทำให้เซลล์ของตัวอ่อนปลอดภัย แตกต่างจากวิธีการแช่แข็งแบบเดิมที่มีลักษณะของผลึกเป็นน้ำแข็ง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อเซลล์ของตัวอ่อนได้
ข้อดีของการแช่แข็งตัวอ่อน
- ช่วยเพิ่มความสำเร็จสะสมในการตั้งครรภ์ เพราะการใส่ตัวอ่อนในรอบแช่แข็งที่สัมพันธ์กับเยื่อโพรงมดลูก จะช่วยทำให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ดีขึ้น
- การแช่แข็งตัวอ่อนช่วยให้เราวางแผนในการรักษาล่วงหน้าในการใส่ตัวอ่อน ในช่วงที่ที่มีความพร้อมและเหมาะสม
- ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับคนไข้ โดยที่ไม่ต้องเริ่มขั้นตอนการรักษาใหม่ทั้งหมด
หากคนไข้วางแผนที่จะมีบุตรเพิ่มในอนาคต หรือในกรณีที่ไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ในรอบนี้ คนไข้สามารถใช้ตัวอ่อนที่แช่แข็งเก็บไว้มาใช้ประโยชน์ได้ด้วย
การเก็บรักษาเซลล์สืบพันธุ์ เซลล์ไข่และเชื้ออสุจิ
การแช่แข็งเซลล์ไข่
ในอดีตการแช่แข็งเซลล์ไข่ทำได้ยากมาก เพราะเซลล์ไข่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกายมนุษย์ และมีน้ำเป็นองค์หลัก เดิมทำการแช่แข็งโดยลดอุณหภูมิลงอย่างช้า ๆ หรือ “Slow freezing” เมื่ออุณหภูมิลดลงจนถึงจุดเยือกแข็ง จะเกิดผลึกน้ำแข็งขึ้นในเซลล์ไข่ ซึ่งทำอันตรายต่อโครงสร้างเซลล์ให้เสียหาย ทำให้อัตราความสำเร็จต่ำ
ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคให้ดีขึ้นโดยการแช่แข็งแบบผลึกแก้ว หรือ “Vitrification” โดยใช้สารรักษาความเย็นที่เข้ามาแทนที่น้ำในเซลล์และลดอุณหภูมิของเซลล์ไข่ได้รวดเร็วมาก จนไม่เกิดผลึกน้ำแข็งขึ้นภายในเซลล์ จึงทำให้อัตราความสำเร็จสูงมาก
ทำไมถึงต้องแช่แข็งเซลล์ไข่
เพื่อรักษาเซลล์ไข่ไว้ใช้ในอนาคตด้วยเหตุผลทางการแพทย์ หรือเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ในระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะเมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้นจำนวนไข่และคุณภาพจะลดลงเรื่อย ๆ ทำให้มีบุตรยาก เสี่ยงต่อภาวะเด็กมีโครโมโซมผิดปกติ เพิ่มภาวะแท้งบุตร ดังนั้นหากแช่แข็งไข่ไว้ในช่วงอายุที่เหมาะสมจะได้ไข่ที่คุณภาพดีและจำนวนที่พอเหมาะ ช่วยเพิ่มโอกาสการมีบุตรที่ปกติเมื่อมีความพร้อมได้
ใครบ้างที่ควรจะแช่แข็งเก็บรักษาเซลล์ไข่
- ผู้หญิงที่ยังไม่พร้อมจะตั้งครรภ์ในขณะนี้ โดยเฉพาะเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี
- ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด หรือฉายแสงที่กระทบต่อจำนวนและคุณภาพเซลล์ไข่
- ผู้มีปัญหาด้านพันธุกรรม ชนิดที่ทำให้รังไข่เสื่อมการทำงานเร็ว เช่น Turner syndrome, Fragile X syndrome
- ผู้ที่ต้องผ่าตัดรังไข่ เช่น ถุงน้ำรังไข่, เนื้องอกรังไข่, ช็อคโกแลตซีสต์
- ผู้ที่แช่แข็งไข่เพื่อการบริจาค ซึ่งยอมรับให้ทำได้ในบางประเทศ
- กรณีรักษาเด็กหลอดแก้วแล้วสามีไม่สามารถหลั่งน้ำเชื้อได้ ไม่มีตัวอสุจิในน้ำเชื้อหรือจำนวนอสุจิไม่เพียงพอที่จะผสมปัจจุบันกฎหมายอนุญาตให้แช่แข็งเซลล์ไข่ เพื่อใช้ในอนาคตได้
การเก็บรักษาแช่แข็งเซลล์ไข่ทำได้อย่างไร
ฉีดยากระตุ้นเพื่อให้ได้เซลล์ไข่ที่มากพอ เฉลี่ย 8-10 วัน จากนั้นเก็บไข่ผ่านทางช่องคลอด โดยใช้เข็มขนาดเล็กคัดเอาไข่ที่อยู่ในระยะสมบูรณ์ เพื่อแช่แข็ง และเก็บรักษาไว้ในไนโตเจนเหลว หากจะนำไข่ที่แช่แข็งมาใช้ เพียงแสดงทะเบียนสมรสก็สามารถละลายเซลล์ไข่พร้อมใช้ได้
อายุเท่าไรควรจะมาแช่แข็งและฝากเซลล์ไข่ไว้
สามารถทำได้ทุกช่วงอายุ โดยพบว่าเมื่อทำการแช่แข็งไข่ เมื่ออายุน้อยกว่า 35 ปี จะทำให้ได้จำนวนไข่และคุณภาพสูง หากอายุมากขึ้นเท่าไร อัตราการความสำเร็จของการมีบุตรจากการแช่แข็งไข่จะลดน้อยลง และอาจจำเป็นต้องได้จำนวนไข่มากขึ้น เนื่องจากคุณภาพที่ได้ก็จะลดลงด้วย
ความสำเร็จของการแช่แข็งเซลล์ไข่เป็นอย่างไร
ความสำเร็จขึ้นอยู่กับจำนวนและคุณภาพไข่ ณ ช่วงอายุที่แช่แข็ง ยิ่งอายุน้อยโอกาสสำเร็จจะสูง ค่าเฉลี่ยหลังละลายไข่ สามารถนำมาใช้ได้ร้อยละ 80 -95 เจริญเป็นตัวอ่อนเมื่อปฏิสนธิร้อยละ 70-80, หากอายุน้อยกว่า 35 ปี โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จร้อยละ 40- 50, หากอายุ 35-37 ปี สำเร็จร้อยละ 30-35, 38-40 ปี ร้อยละ 25-30, 41-43 ปี ร้อยละ 20-22
ควรต้องมีไข่แช่แข็งจำนวนกี่ใบ
ในอดีตต้องใช้ไข่ 100 ใบ ต่อการมีบุตร 1 ครั้ง ปัจจุบันดีขึ้นมาก โดยหญิงอายุน้อยกว่า 35 ปี แนะนำให้แช่แข็งไข่ 10-15 ใบ ต่อความสำเร็จในการตั้งครรภ์ 1 ครั้ง หากอายุมากกว่า 35 ปี อาจต้องใช้จำนวนไข่เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยโอกาสของการตั้งครรภ์เท่ากับร้อยละ 7 ต่อไข่ 1 ใบ
เด็กที่เกิดจากการใช้ไข่แช่แข็งจะมีความผิดปกติหรือไม่
เด็กที่เกิดด้วยวิธีการแช่แข็งไข่คนแรกของโลก เกิดในปี พ.ศ.2529 ปัจจุบันแข็งแรงดี ช่วยยืนยันว่าการแช่แข็งไข่มีความปลอดภัย ไม่เพิ่มโอกาสความผิดปกติของโครโมโซม หรือความพิการมากขึ้น เมื่อเทียบกับการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติซึ่งพบเพียง 1- 2 % สามารถเก็บแช่แข็งเซลล์ไข่ ไว้ใช้ได้นานเพียงไร ตามหลักการสามารถแช่แข็งไข่ไว้ได้นานตราบเท่าที่ยังมีสารรักษาความเย็นที่เพียงพอ ปัจจุบันข้อมูลที่เก็บแช่ไข่ไว้นาน 14 ปี เมื่อนำมาใช้ก็ประสบผลสำเร็จดี โดยทั่ว ๆ ไปแนะนำให้ใช้ไข่แช่แข็งก่อนอายุ 50 ปี เนื่องจากอายุเกินกว่านี้ตั้งครรภ์อาจพบภาวะแทรกซ้อนมาก
ผลข้างเคียงของการแช่แข็งเซลล์ไข่
การแช่แข็งเซลล์ไข่นับว่าปลอดภัยมาก ไม่ได้ทำให้จำนวนไข่ในร่างกายลดน้อยลงหรือทำให้เข้าสู่วัยหมดระดูเร็วขึ้น เพียงแต่เป็นการนำไข่ที่จะสูญเสียในแต่ละรอบเดือนนั้นมาเก็บรักษาไว้ อาจพบภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินหรือการติดเชื้อซึ่งพบได้น้อยมาก
การแช่แข็งเซลล์อสุจิ
จุดประสงค์เพื่อเก็บรักษาเซลล์อสุจิให้คงอยู่และสามารถนำมาใช้ได้ เมื่อถึงเวลาที่จำเป็น
การเก็บรักษาแช่แข็งเซลล์อสุจิทำได้อย่างไร
เป็นการเก็บรักษาเชื้ออสุจิ ไว้ในไนโตเจนเหลว อุณหภูมิ-196°C โดยอาศัยการลดอุณหภูมิลงอย่างรวดเร็ว ร่วมกับการใช้สารรักษาความเย็น ป้องกันไม่ให้เกิดผลึกน้ำแข็งเกิดขึ้นในเซลล์ได้ จึงสามารถช่วยรักษาเซลล์ของอสุจิให้มีชีวิตคงอยู่ได้เป็นอย่างดี
ใครบ้างที่ควรจะแช่แข็งเก็บรักษาเซลล์อสุจิ
- ผู้ที่ต้องการเก็บรักษาเซลล์อสุจิเพื่อไว้ใช้ในอนาคต เช่น ต้องรักษาโรคบางอย่างที่ต้องได้ยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสง ซึ่งจะมีผลทำลายเซลล์อสุจิ
- กรณีผู้ชายบางท่านก่อนที่จะทำหมัน การเก็บรักษาน้ำอสุจิไว้ใช้ เผื่อต้องการมีบุตรในอนาคต
- กรณีที่ฝ่ายชายไม่สะดวกให้เชื้อหรือให้ไม่ได้ ในวันที่จะดูดเก็บฟองไข่หรือต้องฉีดเชื้อผสมเทียม
- กรณีต้องดูดเก็บเชื้อจากหลอดเก็บเชื้อหรืออัณฑะโดยตรง หากนำพบเชื้อ ก็จะแช่แข็งเก็บรักษาไว้ใช้ในรอบต่อไป หรือนำเซลล์อสุจิที่เหลือนำมาแช่แข็งหลังจากนำมาใช้ปฏิสนธิด้วยวิธี ICSI แล้ว
- กรณีฝ่ายชายติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์ หรือ อยู่ในระหว่างการรักษา สามารถมาฝากเชื้อไว้ และดูว่ารักษาตอบสนองดีมั้ย แล้วเป็นอย่างไร
- กรณีผู้ชายที่บริจาคเชื้อ ต้องแช่แข็งเก็บรักษาเชื้อไว้อย่างน้อย 6 เดือน จนกว่าจะตรวจยืนยันได้ว่า ไม่มีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ใด ๆ จึงจะสามารถนำเชื้อนั้นมาใช้ได้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากอสุจิไปยังฝ่ายที่รับ
สามารถเก็บแช่แข็งเซลล์อสุจิ ไว้ใช้ได้นานเพียงไร
ปัจจุบันเทคนิคการแช่แข็งเชื้ออสุจิ ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างมาก ข้อมูลปัจจุบันเราสามารถเก็บรักษาไว้ในไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ-196 องศาได้นานมากกว่า 10 ปี โดยที่คุณภาพไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่อาจจะมีผลต่ออสุจิแช่แข็งคือรังสีคอสมิก ซึ่งจะมีผลทำให้คุณภาพของอสุจิเสียไป แต่หากไม่มีผลกระทบจากรังสีคอสมิกแล้วเซลล์อสุจิที่แช่แข็งสามารถไว้ได้นานตลอดไปเท่าที่ยังมีไนโตรเจนแช่แข็งอยู่
ความสำเร็จของการแช่แข็งเซลล์อสุจิเป็นอย่างไร
ผลของการละลายเชื้อแช่แข็ง ได้ค่อนข้างดีสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้สูง โดยขึ้นกับปัจจัยด้านจำนวนและคุณภาพของเชื้ออสุจิก่อนการแช่แข็ง เช่น ปริมาณเชื้อก่อนการแช่แข็งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานมากว่า 15 ล้านตัว และมีการไหวของตัวเชื้ออยู่ในเกณฑ์ดี พบว่าหากละลายเชื้อจะพบอัตราการอยู่รอดหลังละลายของอสุจิค่อนข้างดี สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปฏิสนธิได้
ผลหลังนำเชื้อแช่แข็งมาใช้จะเป็นอย่างไร
ข้อมูลพบว่า เชื้ออสุจิที่แช่แข็งไว้เมื่อนำไปใช้แล้วได้ผลและปลอดภัย แม้ว่าจะเก็บรักษาเชื้ออสุจิไว้นานกว่า 20 ปี หลังจากนำมาใช้ยังได้ผลที่ปลอดภัยในการทำเด็กหลอดแก้ว และพบทารกที่เกิดโดยเทคนิคการฉีดเชื้อผสมเทียมด้วยอสุจิที่แช่แข็ง และพบว่าเด็กที่เกิดจากการใช้อสุจิที่ผ่านการแช่แข็ง ไม่พบว่ามีความแตกต่างจากทารกที่เกิดจากโดยวิธีธรรมชาติ ทั้งในด้านน้ำหนักแรกคลอด ไม่พบความพิการหรือความผิดปกติของโครโมโซมมากขึ้น
[NEXForms id=”6″ open_trigger=”popup” auto_popup_delay=”” auto_popup_scroll_top=”” exit_intent=”0″ type=”button” element_class=”” text=”::ปรึกษาแพทย์ออนไลน์::” button_color=”btn-success” ]